ท่องเที่ยวไทย อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ท่องเที่ยวไทยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
ที่สุดแห่งป่าปะการังและวิถีชาวเลพระยาสุรินทราชา เทศาเมืองภูเก็ต (นามเดิมนกยูง วิเศษกุล) เป็นผู้ค้นพบเกาะและตั้งชื่อ หมู่เกาะสุรินทร์ เมื่อครั้งที่ท่านมาสำรวจ ทะเลฝั่งอันดามัน ที่ ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา จนกระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2514 กรมป่าไม้จึงได้ประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลอันดามันและอยู่ติดชายแดนประเทศพม่า ห่างจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกของไทยประมาณ 70 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะรี เกาะไข่ และเกาะกลาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์มีเนื้อที่ประมาณ 88,282 ไร่ หรือ 141.25 ตารางกิโลเมตร
ความเป็นมา : กรมป่าไม้ได้ประกาศป่าหมู่เกาะสุรินทร์ ท้องที่อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา เป็นป่าสงวนแห่งชาติเมื่อ 30 ธันวาคม 2514 ต่อมาคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าได้มีมติในที่ประชุมครั้งที่ 1/2519 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2519 เห็นชอบในหลักการที่จะกำหนดให้หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งกรมป่าไม้ได้ติดต่อประสานงานไปยังกรมทรัพยากรธรณี ได้รับแจ้งว่า หมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในเขตสัมปทานปิโตรเลี่ยม แปลงที่ ตก. 9 W1 ของบริษัท WEEKS PETROLEUM จึงขอให้ระงับการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ก่อน และบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ยังเคยถูกเสนอให้ใช้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและในทะเล ประกอบกับทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม เหมาะที่จะจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวและศึกษาหาความรู้ในด้านธรรมชาติ กรมป่าไม้จึงได้คัดค้านไม่เห็นด้วย
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการสำรวจบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์อีกครั้งหนึ่ง ปรากฏว่า มีทิวทัศน์ทางทะเลที่สวยงาม มีปะการัง สภาพป่าที่สมบูรณ์ หาดทรายขาวสะอาด และนกนานาชนิด กรมป่าไม้จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งได้มีมติในคราวประชุมครั้งที่ 2/2523 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2523 เห็นสมควรกำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินหมู่เกาะสุรินทร์ ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา มีเนื้อที่ 84,375 ไร่ หรือ 135 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย
ต่อมาในปี 2550 ได้ผนวกกองหินริเชริว ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังวัดพังงา เนื่อที่ 3,907 ไร่ หรือ 6.25 ตารางกิโลเมตร เข้าเป็นอุทยานแห่งชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 31ก ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 รวมเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสิ้น 88,282 ไร่ หรือ 141.25 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
หมู่เกาะสุรินทร์มีสภาพที่กำบังคลื่นลมทั้งสองฤดู เนื่องจากเกาะวางตัวอยู่เป็นกลุ่มและมีอ่าวขนาดใหญ่ ทำให้เกิดแนวปะการังริมฝั่งอยู่รอบเกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ และเกาะบริวาร นอกเหนือจากการรับอิทธิพลจากคลื่นลม สภาพแวดล้อมทางสมุทรศาสตร์ของบริเวณหมู่เกาะเหล่านี้อเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการพัฒนาของแนวปะการัง คือ น้ำใส อุณหภูมิพอเหมาะ และมีการผสมผสานของน้ำที่ได้รับสารอาหารจากมวลน้ำเบื้องล่างที่ปะทะเกาะ ความอุดมสมบูรณ์ของแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นอาหารสำหรับปลาและสัตว์อื่นๆ ปัจจัยทางสมุทรศาสตร์ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะของน้ำขึ้นน้ำลงในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นแบบ Semidiurnal คือ น้ำขึ้นและน้ำลงอย่างละ 2 ครั้ง ใน 24 ชั่วโมง และความแตกต่างระหว่างน้ำขึ้นสูงสุดและต่ำสุดอาจถึง 3 เมตร ทำให้มีกระแสน้ำเลียบฝั่งค่อนข้างแรง
เกาะสุรินทร์เหนือ และเกาะสุรินทร์ใต้ ตั้งอยู่ชิดกันคล้ายเกาะแฝด โดยมีพื้นน้ำตื้นๆ กว้างประมาณ 200 เมตร กั้นอยู่ ในช่วงน้ำลงสามารถข้ามไปยังอีกเกาะได้ เรียกว่า อ่าวช่องขาด ส่วนเกาะขนาดเล็กอีกสามเกาะเป็นเกาะหินที่มีต้นไม้แคระแกร็นขึ้นอยู่ไม่หนาแน่นนัก พืชพรรณที่พบเป็นพืชป่าดิบชื้น เป็นแหล่งกำเนิดของแนวปะการังน้ำตื้นขนาดใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ลักษณะภูมิอากาศ
สามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 2 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม ปริมาณฝนเฉลี่ยในแต่ละปีจะมีค่ามากกว่า 3,000 มิลลิเมตร ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้
==========================================================